กลไกควบคุมการปล่อยมลพิษทางน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าการประมงในทะเลสาบสงขลา

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ เสนอให้ใช้กลไกการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษทางน้ำในทะเลสาบสงขลาพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดมลพิษจากการผลิตของตนเอง โดยมีอนุญาตการปล่อยน้ำเสียชนิดเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ได้เป็นเครื่องมือควบคุมการปล่อยมลพิษของผู้ผลิตรายใหญ่ และมีค่าธรรมเนียมในการปล่อยน้ำเสียเป็นเครื่องมือควบคุมผู้ผลิตที่มีขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำและเพิ่มมูลค่าการประมงในทะเลสาบสงขลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก มีความอุดมสมบูรณ์ในอดีตและมีความหลากหลายทางชีวิภาพสูง โดยเลือกผลผลิตของกุ้งตะกาดเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและคุณค่าทางเศรษฐกิจของทะเลสาบสงขลา เนื่องจากกุ้งตะกาดเป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นที่พบมากถึงร้อยละ 74 ของผลผลิตกุ้งในทะเลสาบสงขลา และเป็นสัตว์น้ำที่มีราคาสูงที่ชาวประมงพึ่งพิงเป็นรายได้หลัก นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตประมงมีทั้งเรื่องคุณภาพน้ำที่เชื่อมโยงจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ เช่น น้ำเสียจากชุมชน, ปริมาณการลงแรงทำประมง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประมงและจำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพประมง รวมถึงระดับความเค็มของน้ำที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายว่าให้นำการใช้กลไกการสร้างแรงจูงให้ผู้ก่อมลพิษหันมาสนใจพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียเพื่อลดมลพิษจากการผลิตของตนผ่านใบอนุญาตปล่อยน้ำเสียชนิดเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ได้เป็นเครื่องมือควบคุมการปล่อยมลพิษของผู้ผลิตรายใหญ่ และใช้ค่าธรรมเนียมในการปล่อยน้ำเสียเป็นเครื่องมือควบคุมผู้ผลิตที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนการศึกษาเรื่องนโยบายการควบคุมการทำประมงในทะเลสาบสงขลาพบว่า นโยบายการจัดการร่วมกันโดยชุมชนสามารถควบคุมการวางไซได้ดีกว่ามาตรการควบคุมโดยรัฐ และการกำหนดสิทธิในการวางไซที่สามารถเปลี่ยนมือได้จะควบคุมการละเมิดได้ดีกว่าสิทธิที่ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ สำหรับทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นทะเลสาบเปิดที่ประกอบด้วยทะเลสาบย่อยเชื่อมต่อกัน 3 จุด โดยมีทางเปิดออกสู่ทะเลอยู่ตอนใต้สุด มีทั้งน้ำกร่อยและน้ำเค็มขึ้นอยู่กับฤดูกาล มีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 1,040 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกำลังเผชิญสภาวะการลดลงของผลผลิตประมงอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุคุณภาพน้ำที่เสื่อมลงและการจับสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามหามาตรการมาควบคุมการจับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา แต่ผลการปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ของคณะนักวิจัย ม.อ.หาดใหญ่ ครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางที่สะท้อนปัญหาและกระตุ้นเตือนให้คนสงขลาหันมาให้ความสำคัญและร่วมกันฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดอย่างจริงจังอีกครั้ง