การพัฒนาและจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

แม่น้ำเป็นทั้งแหล่งอาหาร เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในสมัยสังคมเกษตรกรรม เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในครอบครัว เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของประชากร ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การเกษตรที่เคยอาศัยธรรมชาติเปลี่ยนเป็นระบบชลประทานแบบเร่งรัดเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ ทำให้แหล่งน้ำต่างๆต้องรับบทบาทในการรองรับของเสียจากแหล่งกำเนิดต่างๆเพิ่มมากขึ้น แหล่งน้ำที่เป็นสายเลือดหลักของประเทศและมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นหากมองย้อนกลับเปรียบเทียบกับคุณภาพของแหล่งน้ำเหล่านี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าไม่มีมาตรการในการใช้ทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ นอกจากจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ว ปัญหามลพิษจากภาวะน้ำเน่าเสียก็จะทวีความรุนแรงในขณะเดียวกัน

ทรัพยากรน้ำที่มีจำกัดและผันแปรอย่างมากโดยเฉพาะสถานการณ์โลกร้อน

ในฤดูฝนน้ำมีมากเกินไปจนเกิดอุทกภัย ส่วนในฤดูแล้งน้ำมีน้อยจนขาดแคลน ความเสียหายจากน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนา ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการผลิตพลังงาน น้ำจึงมีความสำคัญยิ่งต่อมนุษย์และความสมดุลและยั่งยืนของระบบนิเวศน์ การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการรวมถึงการใช้ทรัพยากรอันมีค่านี้อย่างเหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการศึกษาความเหมาะสม การออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง การติดตามและประเมินผลโครงการ การประชาสัมพันธ์และพัฒนาการมีส่วนร่วมการให้คำปรึกษาเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่ดูแลทรัพยากรน้ำในระดับประเทศ รวมถึงการสร้าง ติดตั้ง ดูแลและบำรุงรักษาเครื่องมือและระบบที่ช่วยตัดสินใจเพื่อให้การจัดการและการใช้น้ำมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ความสำคัญของทรัพยากรน้ำ

1.ใช้สำหรับการบริโภคและอุปโภค เพื่อดื่มกิน ประกอบอาหาร ชำระร่างกาย ทำความสะอาด ฯลฯ
2.ใช้สำหรับการเกษตร ได้ แก่ การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งคนเราใช้เป็นอาหาร
3.ด้านอุตสาหกรรม ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิต ล้างของเสีย หล่อเครื่องจักร และระบายความร้อน ฯลฯ
4.การทำนาเกลือ โดยการระเหยน้ำเค็มจากทะเล หรือระเหยน้ำที่ใช้ละลายเกลือสินเธาว์
5.น้ำเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า
6.เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล มหาสมุทร เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
7.เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทัศนียภาพของริมฝั่งทะเล และแหล่งน้ำที่ใสสะอาดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของมนุษย์

ผลกระทบของน้ำเสียต่อสิ่งแวดล้อม

– เป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรค เช่น อหิวาตกโรค บิด ท้องเสีย
– เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงนำโรคต่าง ๆ
– ทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อดิน น้ำ และอากาศ
– ทำให้เกิดเหตุรำคาญ เช่น กลิ่นเหม็นของน้ำโสโครก
– ทำให้เกิดการสูญเสียทัศนียภาพ เกิดสภาพที่ไม่น่าดู เช่น สภาพน้ำที่มีสีดำคล้ำไปด้วยขยะ และสิ่งปฎิกูล
– ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น การสูญเสียพันธุ์ปลาบางชนิดจำนวนสัตว์น้ำลดลง
– ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในระยะยาว